สวัสดีค่า โมนะคะ ตอนนี้เรียนอยู่ปี3 Arts Eng วันนี้ก็อยากมาแชร์วิธีการเรียน English I – IV ให้ผ่านภายในครั้งเดียวพร้อมเกรดสวยๆเลยค่า
บอกก่อนเลยว่าตัวเราค่อนข้างมีพื้นฐานและชื่นชอบวิชาภาษาอังกฤษมาตั้งแต่มัธยม เลยรู้สึกว่าการเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุกแล้วก็ท้าทายดี แต่พอได้เข้ามหาลัยเอแบคก็ได้เปิดโลกเลยว่า โอ้ เรามีหลายจุดต้องพัฒนาอีกมากเลย หลักๆเลยคือการเรียนในมัธยมมักจะเน้นแค่การอ่าน เขียน แต่ English I – IV ของเอแบคคือครอบคลุมทุกทักษะ การฟังพูดอ่านเขียน ครบหมด และในกระทู้นี้เราจะพูดถึงไปทีละทักษะเลยยยย
การฟัง
เริ่มจากทักษะการฟังก่อนเลย หลายๆคนคิดว่าการฟังเป็นทักษะที่ต้องมีพื้นฐานภาษาอังกฤษประมาณหนึ่งถึงจะไปรอด แต่บอกเลยว่า English I – II ส่วนใหญ่อาจารย์จะช่วยเรากับ Listening Quiz มากๆ เพราะเขารู้ว่าเรายังไม่ถนัด อาจารย์บางคนจะให้คำถามมาเลยว่าต้องการข้อมูลอะไร เช่น สถานที่ / เวลา / คน หรือ การกระทำ สิ่งสำคัญในการฟังคือไม่ต้องแปลทุกอย่างให้ออก แต่จับใจความหรือคีย์เวิร์ดให้ได้พอ ปกติอาจารย์มักจะเปิดเทปให้ฟัง 2-3 ครั้ง ครั้งแรกคือจับใจความว่าเกิดอะไรขึ้น ครั้งที่ 2-3 คือต้องหาคีย์เวิร์ดหรือรายละเอียดที่โจทย์ถาม ระหว่างฟังให้จดโน้ตไปด้วย แนะนำให้จดเป็น *คำ* อย่าจดเป็นประโยคเพราะเสียเวลา และจะทำให้โฟกัสคีย์เวิร์ดอื่นที่ตามมาไม่ทัน พอเราได้คำตอบมาแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันอีกอย่างหนึ่งคือการเรียบเรียงคำตอบดีๆ ดูดีๆว่าโครงสร้างโจทย์เป็นยังไง เช่น ถาม Past tense เป็นอดีตมา ตอนตอบก็ต้องตอบเป็น Past tense เป็นอดีตด้วย อีกจุดที่เสียคะแนนกันแบบน่าเสียดายคือพลาดแกรมม่าทั้งๆที่คำตอบถูก เพราะฉะนั้นเราต้องตรวจทานดีๆว่าเราตอบถูกแกรมม่ามั้ย พยายามใช้ประโยคที่กระชับได้ใจความมากที่สุด อย่าเขียนยาว หรืออธิบายนอกเหนือจากที่โจทย์ถาม Listening Quiz ของ English I – II ส่วนใหญ่จะเป็นบทสนทนา หรือ บทพูดคุยสั้นๆ เรื่องทั่วๆไปไม่ลงลึกมาก พอเป็นส่วนของ English III – IV คำศัพท์ในเทปจะยากขึ้น อาจเป็นพวก TedTalk วิชาการ ข่าว สัมภาษณ์ ประมาณนี้เลย
การพูด
อีกพาร์ทหนึ่งของการเรียนอิ้งเลยคือการพรีเซนท์ ซึ่งพรีเซนท์เป็นตัวได้ทั้งตัวช่วยและตัวฉุดเกรดเลย ทุกครั้งก่อนจะมีให้พรีเซนท์ อาจารย์จะบอกหัวข้อ รูปแบบ ขอบเขต และเกณฑ์การให้คะแนน ตรงนี้เราต้องตั้งใจฟังมากๆๆๆ เพราะอาจารย์บางคนเคร่งรูปแบบการพรีเซนท์แล้วพร้อมหักคะแนนถ้าเขาดูออกว่าเราไม่ฟัง instruction รวมถึงตัวPowerPoint slides / โปสเตอร์ที่ใช้ในการพรีด้วย ใส่ข้อมูลที่อาจารย์อยากได้ให้ครบ แล้วทำให้อ่านง่ายที่สุด ถ้ามีรูปก็ใช้รูป อย่าพยายามใช้ตัวอักษรเยอะ หลายกลุ่มคือโดนหักคะแนนเพราะใส่ข้อมูลทั้งหน้ามีแต่ตัวอักษรไป เพราะฉะนั้นให้ใช้เป็น bullet point แล้วลิสต์คีย์เวิร์ดสำคัญๆเอา
ในช่วงการเตรียมพรี เริ่มแรกเลย เลือกหัวข้อที่ไม่จำเจน่าเบื่อจะทำให้อาจารย์สนใจในงานพรีของเรา บางคนคือยิ่งเด็กครีเอทีพยิ่งชอบ แต่!!! อย่าเลือกเรื่องที่ยากเกินไป เกินที่เราจะทำความเข้าใจ เกินกว่าที่จะอธิบายให้เพื่อน แล้วก็ยากในการหาข้อมูล เลือกเรื่องที่มีแหล่งให้เช็กข้อมูลจากหลายๆที่ยิ่งดี พอได้หัวข้อเสร็จก็กำหนดขอบเขตเลย อาจจะตั้งเป็นหัวข้อเช่น definition (คำจำกัดความ), problem (ปัญหา), solution (วิธีแก้ไข), example (ตัวอย่าง) ซึ่งส่วนใหญ่อาจารย์จะกำหนดมาให้ว่าเขาอยากให้เราพรีครอบคลุมเรื่องอะไรบ้างอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลกับเขียนสคริปต์ ตรงนี้สำคัญมาก การหาข้อมูล ห้าม!!! ลากก็อป ไม่ว่าเวลาจะน้อยขนาดไหน งานเดือดขนาดไหน พยายามอย่าลอกข้อมูลมาเป็นสคริปต์ตรงๆ อย่างน้อยๆให้อ้างอิงว่า According to นักเขียนคนนี้/เว็บนี้, ข้อมูล1234 แต่ทางที่ดีที่สุดคือเปลี่ยนข้อมูลเป็นภาษาเราให้เข้าใจง่ายกว่าเดิม แล้วเอาใส่ word / google docs / Grammarly ให้มันแก้แกรมม่าให้ ตรงนี้จะช่วยในการท่องสคริปต์เพราะมันจะคล่องปากเรามากกว่า รวมถึงตอนพรีเซนท์คืออาจารย์จะดูออกเลยว่าเราไม่ได้พูดตามเนื้อหาในเว็บแบบคำต่อคำ อย่างสุดท้ายคือ ฝึกซ้อมเยอะๆ ฝึกซ้อมหน้ากระจก ฝึกซ้อมกับเพื่อน ให้ชินกับการมีคนจ้องแล้วเพื่อนจะช่วยดูว่าเราพูดเร็วพูดช้าเกินไปไหม รวมถึงการมองหน้าสบตาคนฟังด้วย พรีด้วยความมั่นใจ อาจารย์พร้อมเทคะแนนให้แน่นอน
การอ่าน
ต่อมาในส่วนของการอ่าน เป็นจุดที่หลายๆคนไม่ถนัด เพราะไม่แม่นคำศัพท์กันแล้วในอิ้งหลังๆภาษามันวิชาการขึ้นด้วย วิธีที่เราใช้ก็คือเวลาเจอคำศัพท์ที่ไม่รู้ความหมาย ให้ดูpart of speech ว่ามันทำหน้าที่อะไร เป็นคำนาม กริยา คุณศัพท์หรืออะไร หลังจากนั้นคือลองแปลจากอิ้งเป็นอิ้งก่อน แล้วถ้ายังไม่เข้าใจอีกค่อยแปลเป็นไทย ส่วนตัวเราคิดว่าการอ่านจับใจความภาษาอังกฤษให้ได้เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งแรกๆทุกอย่างมันจะน่ากลัวมาก เพราะบทความมันดูยาวดูเยอะดูยาก มีแต่คำที่เราไม่เข้าใจ เราเลยแก้ปัญหาเลยว่าก่อนเรียนบทนั้นๆ เราจะไปอ่านบทความมาล่วงหน้า ให้พอเข้าใจว่าพูดถึงอะไร พออาจารย์ถามคำถามไหนห้อง ต่อให้เราตอบไม่ตรงใจอาจารย์ 100% เราก็พอมีไอเดียว่าเขาพูดถึงเรื่องอะไร อีกวิธีนึงที่ใช้ได้กับการอ่านงานเขียนที่มีศัพท์ยากหรือภาษาวิชาการเยอะๆคือการจับคีย์เวิร์ดสำคัญ หาประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ การจับใจความให้ได้จะมีประโยชน์มากตอนต้องเขียน summary เท่านี้เลยย
การเขียน
พาร์ทนี้นับว่าเป็นพาร์ทที่คนส่วนมากกลัวกัน รวมถึงเราก็ด้วย555 เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีประสบการณ์เขียนอิ้งยาวๆ และก็จะเจอปัญหาเดียวกันคือเขียนวน เขียนคำซ้ำไปซ้ำมา ไม่ก็มีแต่น้ำ วิธีที่เราใช้มาตลอดเลยคือวางแผนก่อนลงมือเขียนจริงว่าจะมีประเด็นหลัก 1 2 3 อะไรบ้าง ตัวอย่างย่อยของแต่ละดีเทลคืออะไร อยากจะเรียงลำดับความคิดอะไรขึ้นก่อน ถ้าคิดตรงนี้ได้จะช่วยประหยัดเวลามากเพราะจะไม่ต้องย้อนมาแก้เปลี่ยนลำดับ อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ในการเขียนเลยก็คือคำเชื่อมหรือ transition นั่นเอง มันเป็นตัวที่ทำให้งานเขียนเราสมูท ต่อเนื่อง น่าอ่านมากขึ้น โดยส่วนมากระหว่างเรียนอาจารย์จะสอนวิธีใช้ transition ในงานเขียนอยู่แล้ว แต่เราสามารถหาเพิ่มเติมได้ เราจะได้มีคลังคำเชื่อมที่หลากหลายอลังการกว่าเดิม เช่นเดียวกันกับการเลือกใช้คำ พยายามอย่าใช้คำเดิม ๆซ้ำไปมา เปลี่ยนไปใช้ synonym (คำพ้องความหมาย) เช่น advantage/benefit หรือ คำเดิมใน part of speech อื่นๆ เช่น benefit (noun) / beneficial (adjective) พยายามคุมโทนการเขียนให้ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น พูดถึงเห็นการณ์ปัจจุบันก็ใช้ tense ปัจจุบัน ให้สอดคล้องกัน ในส่วนของ English III – IV ก็พยายามใช้โครงสร้างประโยคให้หลากหลายมากขึ้น เช่นใช้ passive voice ให้ภาษาของเรามันไม่ทื่อเกินไป สุดท้ายเลยคือ ฝึกเขียนบ่อยๆ ลองสมมติโจทย์มาเขียนดูหลายๆครั้งให้เข้าใจโครงสร้างได้ยิ่งดี เท่านี้เกรดเอก็ลอยมาอยู่ไม่ไกลแล้ววว
นอกจากหลักการเอาตัวรอดกับ4ทักษะข้างบน ก็มีTipsเหล่านี้ที่ช่วยให้การเรียนอิ้งราบรื่นขึ้นมาก มาดูกันเลยย
1. สงสัยตรงไหนให้ถามอาจารย์เลย ถ้าไม่กล้าถามกลางห้องก็ถามหลังคาบส่วนตัว อาจารย์ส่วนใหญ่พร้อมอธิบายแน่นอน โดยเฉพาะพวกโปรเจค พรีเซนท์ ถามให้เคลียร์ให้เข้าใจว่าต้องทำอะไร งานต้องส่งวันไหน อย่าให้ความคลุมเครือมันตัดคะแนนเรา
2. พยายามตอบในคาบบ่อยๆ ตอบให้อาจารย์จำหน้า จำชื่อได้ยิ่งดี หลายๆคนอาจจะกลัวเพื่อนหมั่นไส้แต่วิธีนี้คือการันตีคะแนน participation เลย ตอบผิดตอบถูกไม่ต้องสน แค่พยายามตอบให้อาจารย์เห็นว่าเราพยายามตั้งใจฟังแค่นั้นพอ
3. ตั้งใจฟังในคาบให้ดี อาจารย์มักจะบอกแนวข้อสอบ จุดที่ต้องเน้น จุดที่ต้องข้าม แค่เราฟังในคลาสคือช่วงสอบแทบไม่ต้องอ่านหนังสือเพิ่ม แค่ฝึกๆในจุดที่เขาเน้นก็ได้แล้ว
หวังว่าtipsของเราเป็นประโยชน์น้า ถ้าใครอยากให้เพิ่มเติมตรงไหนเป็นพิเศษคอมเม้นถามมาได้เลย เย่