สวัสดีครับเพื่อน ๆ เจอกันอีกแล้ว นี่ก็เป็นบทความที่ 4 ของผมแล้วนะครับ หากทุกคนยังพอได้เห็นบทความของผมผ่านตาบ้างบน ABACTODAY ในบทความนี้ผมจะมาแชร์เทคนิคต่าง ๆ และคำแนะนำแบบละเอียดว่าเตรียมตัวก่อนสอบและทำสอบยังไงให้ได้คะแนนดีครับ มาดูเทคนิคกันเลยดีกว่าค่ะ
ช่วงก่อนสอบ
เริ่มอ่านหนังสือแบบจริงจังอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนสอบ
- เพราะ 2 สัปดาห์ที่เหลือนี้ยังพอมีเวลาให้เราได้ทบทวนความเข้าใจกับเพื่อนว่าที่อ่านมานั้นเข้าใจถูกไหม ถ้าหากเข้าใจผิดหรือมีจุดที่ยังคาใจอ่านเองไม่รู้เรื่อง ก็ยังมีโอกาสให้กลับไปถามอาจารย์ในคาบ หรือไล่หาคลิปติวเตอร์ดูก็ยังทัน
- อีกทั้งเวลา 2 สัปดาห์จะทำให้เรารู้สึกว่ายังมีเวลานานพอสมควรก่อนสอบ เวลาอ่านหนังสือหรือทำสรุปจะได้ไม่รู้สึกกดดันตัวเองเกินไป
อ่านไปทำสรุปไป
- การอ่านหนังสือแค่ผ่าน ๆ = ไม่อ่านครับ (อย่าทำเพราะเสียเวลา)
- การอ่านไปทำสรุปไปจะทำให้คิดเสมอว่าเราจะลักไก่เขียนเนื้อหาเรียนแบบ short version ยังไงได้บ้าง และจะเป็นการกระตุ้นในหัวเราว่าเนื้อหาที่อ่านไปมีอะไรที่เหมือนกันบ้าง จะได้นำมาเขียนรวมกันทีเดียว วิธีนี้จะช่วยสร้างหลักการจำให้เราเองได้โดยปริยาย และเก็บข้อมูลในหัวเราได้แบบไม่สะเปะสะปะอีกด้วย
ขอแนวหรือข้อสอบเก่าจากรุ่นพี่
- แน่นอนว่าคนที่เรียนก่อนเราย่อมเคยเห็นข้อสอบหรือรู้แนวมาแล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรไปถามคนเหล่านี้เพื่อที่เราจะได้ทบทวนหนังสือแบบตรงจุด เนื่องจากบางทีข้อสอบก็ไม่เปลี่ยนแนว
รวมไฟล์เรียนไว้ในไฟล์เดียว
- บางวิชาก็อนุญาตให้นักศึกษาทำ quiz แบบ open-book ได้ เราจึงควรเตรียม key answers เอาไว้ เพื่อจะได้ช่วยเราในการทำข้อสอบได้ไวขึ้น ซึ่งการรวมไฟล์เรียนทุกไฟล์ไว้ในไฟล์เดียวแล้วกด ctrl+f เพื่อค้นหาจะทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการหาทีละไฟล์ เพราะยังไงก็จะเจอข้อมูลจากไฟล์เรียนแน่นอน 100%
เตรียมคำที่พิมพ์บ่อย ๆ ให้พร้อมใช้ใน Notepad
- อย่างวิชาภาษาอังกฤษซึ่งเป็นปัญหามากในเรื่องเวลาที่น้อยเมื่อเทียบการจำนวนคำที่ต้องพิมพ์ เราควรเตรียม key words ที่ใช้พิมพ์บ่อย ๆ ไว้พร้อมใช้ copy-paste ตัวอย่างเช่นประโยค “as aforementioned in the previous paragraph about … ”, “there are several … to discuss in this essay”, “วันนี้/เดือน/ปี ชื่อตัวเอง(กรณีโจทย์ให้แต่ง resume เอง)” เป็นต้น
ใช้มือถือคำนวณให้ หรือใช้ excel เข้าสูตร
- เวลาทำแบบฝึกหัดที่ต้องคำนวณเลขเยอะ ๆ อย่าเสียเวลากดเครื่องคิดเลขเองทีละตัว เพราะจะทำโจทย์ได้ไม่กี่ข้อ ควรพูดให้ Siri หรือ Google Assistant ในมือถือฟังและคำนวณให้อัตโนมัติ
- หรือจะใส่แค่เลขแล้วให้ excel เข้าสูตร ก็แม่นยำ 100% กว่าเรากดคำนวณเองเช่นกัน
ตอนสอบ
คำนวณเวลาสอบและดูจำนวนข้อที่ทำไปแล้วอยู่เสมอ
- จำไว้เสมอ เมื่อหารว่าเวลาต่อข้อมีเท่าไหร่ก็ไม่ควรใช้เวลาเกินนั้น หรือถ้าจะใช้เวลาเกินก็ไม่ควรเกิน 1-2 นาที และรีบเร่งทำข้อต่อ ๆ ไปที่ง่าย ให้ตีตื้นขึ้นมาเหลือเวลาพอทำข้อที่เหลือ
- สมมติมีเวลา 120 นาที มีโจทย์ 120 ข้อ ก็ทำข้อสอบไล่ 1 ข้อ ต่อ 1 นาทีไปเลยว่าเราทำจำนวนข้อทันตามเวลาที่เสียไปไหม เช่น เวลาหมดไปแล้ว 1 ชั่วโมง เราก็ควรทำเสร็จ 60 ข้อแล้ว
- การทำเช่นนี้จะการันตีว่ายังไงเราก็จะทำข้อสอบทัน
- และถ้าข้อไหนเราคิดว่ายังไงก็คิดคำตอบไม่ออก ให้ข้ามเลย เอาเวลาไปคิดคำตอบดี ๆ ในข้อหลัง ๆ
- ถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้เร่งทำข้อสอบแต่ข้อต้น ๆ เพราะจะทำให้เราไม่รนตอนท้าย ๆ (ควรรีบทำข้อสอบให้เหลือ spare ไว้ 5 นาทีเป็นอย่างน้อย เช่น 20 นาที เร่งทำไปแล้ว 25 ข้อ – เหลือเวลา 5 นาที spare ไว้)
ใช้ ctrl+f หาคำในโจทย์
- บางข้อโจทย์ก็ยาวเป็นหน้า A4 แถมเวลาสอบก็มีน้อย อย่าเสียเวลาอ่าน ถ้าโจทย์ถาม keyword เป็นอะไร ก็ใช้ ctrl+f หาคำนั้นในโจทย์เลยและหาคำตอบจากตรงนั้น
ทำข้อสอบจากหลังมาหน้า
- จะมีบางวิชาที่อาจารย์ให้ทำข้อสอบบน McGraw Hill หรือเว็บไซต์อื่น ๆ ที่มันให้กดย้อนหลังได้ แนะนำว่าควรทำจากหลังไปหน้า เพราะเราจะเหมือนมีจุดหมายว่า ยิ่งเราทำข้อสอบ เลขจำนวนข้อก็ยิ่งลด เราจะมีกำลังใจในการทำข้อสอบมากขึ้น
- และปกติหลายวิชาข้อง่าย ๆ จะอยู่หลัง ๆ ข้อสอบเสมอ
พูดให้ Siri หรือ Google Assistant พิมพ์ให้
- บางข้อสอบอัตนัยก็ impossible เกินไปที่จะทำให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ใครที่สอบใน macbook หรือ ipad หรือ tablet และตัวเองมีสำเนียงภาษาอังกฤษชัดระดับหนึ่งก็สามารถกดตรงสัญลักษณ์ “microphone” บนคีย์บอร์ด แล้วพูดให้ Siri หรือ Google Assistant พิมพ์ให้ได้ จะประหยัดเวลาได้เยอะมาก ๆ
เช็กคำตอบได้แต่อย่าเช็กมากเกินไป
- ผมเข้าใจว่าบางคนก็มีอาการ panic ว่าคำตอบที่ตอบไปจะถูกไหม แล้วก็เช็กคำตอบไปมาหลาย ๆ รอบ ผมแนะนำให้ว่าถ้าเช็กถึง 3 รอบแล้วเพื่อน ๆ ยังยืนยันไม่เปลี่ยนคำตอบ ก็จงมั่นใจไปเถอะครับว่าคำตอบมันถูกแล้ว อย่าเอาเวลามาจมกับข้อใดข้อหนึ่งนานเกินไป
Credit : neirdo