Share this:

ABAC เอแบค ประกาศก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยยุคดิจิทัล 2.0 ด้วยการนำระบบ iTune University มาใช้ประกอบการเรียนการสอน ตอบสนองไลฟ์นักศึกษารุ่นใหม่

ดร.กิตติ โพธิกิตติ คณบดี บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)
ดร.กิตติ โพธิกิตติ คณบดี บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)

ประเดิมในเอ็มบีเอ ก่อนต่อยอดไปยังระดับ ป.ตรีในอนาคต

การก้าวสู่ขวบปีที่ 40 ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และ 28 ปีของการต่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัยABAC เตรียมเฉลิมฉลองครั้งใหญ่พร้อมๆ กับเปิดทิศทางใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะบัณฑิตวิทยาลัยที่หากเปรียบเป็นคน ก็กำลังเติบใหญ่สู่วัยหนุ่มสาว และเตรียมจะก้าวเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวในอนาคต

จากแนวโน้มของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งการปรับโฉมวิสัยทัศน์บัณฑิตวิทยาลัยเอแบคที่หวังจะกลายเป็น “ผู้นำ” ลำดับต้น ๆ ในเส้นทางสายการศึกษาที่มีดิจิทัลเป็นธงนำ

“โลกแห่งยุคดิจิทัล ที่ไม่ช้าก็เร็วจะต้องคืบคลานเข้ามา และเอแบคก็ต้องการเป็น “ผู้นำ” ของความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจการศึกษา เช่นเดียวกับที่เคยเปิดตัวหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ Join Program หรือ Twinning Program ให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ เดินตาม เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา”  ดร.กิตติ โพธิกิตติ คณบดี บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) กล่าว

โดยที่ก้าวต่อไปของบัณฑิตวิทยาลัยนับจากนี้ คือการค่อยๆ เดินไปสู่การเรียนการสอนแบบดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน

เริ่มต้นจากนำระบบการเรียนการสอนแบบ iTune University มาใช้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายทุกที่ ทุกเวลา

iTune University เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการจัดการการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อย่าง  MIT  Harvard  หรือ Stamford นำมาใช้บริการผู้เรียน โดยอาศัยความพร้อมด้านโครงข่ายจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตพื้นฐานจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (True) และซอฟต์แวร์จากบริษัทแอ๊ปเปิ้ล (Apple)

“ผู้บริโภคหรือผู้เรียน ส่วนใหญ่ก็มีโน้ตบุ๊คหรือมือถือ ที่สามารถใช้ต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ไลฟ์สไตล์ของผู้เรียนที่ต้องเข้าเรียนในห้องอาจดูธรรมดาไป เพราะทุกวันนี้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้เรียนของเอแบค ซึ่งค่อนข้างเป็นนีช มาร์เก็ต ที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ  ทั้งนี้การที่เอแบคจะนำ  iTune University มาใช้เป็นที่แรก จะช่วยให้นักเรียนของเราไม่ต้องเข้ามาในมหาวิทยาลัยทุกวัน”

iTune University  เป็นหนึ่งในความพยายามของบัณฑิตวิทยาลัยABAC ที่ต้องการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักศึกษารุ่นใหม่ เช่นเเดียวกับการขยายศูนย์การเรียนการสอนหรือ City Campus ที่ชั้น 14 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อที่จะโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบาย เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า

และนี่เป็นแนวทางของการสร้างจุดเด่นABAC ให้ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น

เช่นเดียวกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ดร.กิตติ บอกว่า การที่มหาวิทยาลัยพยายามเปิดตัวหลักสูตรใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นโอกาสและทางเลือกให้กับผู้เรียน  เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ  เพราะในบางครั้งการเรียนการสอนแบบเดิมๆ อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือไม่สามารถสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้

มองในแง่ของโปรแกรมการเรียนการสอนในอนาคตABAC เตรียมพัฒนาหลักสูตรที่มีความใกล้ชิดกับองค์กรมากขึ้น และอยู่บนพื้นฐานของการเรียนการสอนด้านการบริหารจัดการ  เช่น ในสาขาไฟแนนซ์ สถาปัตยกรรม หรือบัญชี 

“การเรียนการสอนต้องกระชับ และตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เรามองตลาดเป็นอันดับแรก บัณฑิตที่จบออกไป ต้องมีตลาดรองรับ ประกอบอาชีพได้เลย แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เน้นเรียนทฤษฎีเป็นหลัก”

ดร.กิตติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหากเป็นการเรียนการสอนในสาขาการเงิน ก็จะมุ่งเน้นเนื้อหาที่เป็นการเงินล้วนๆ  แต่นับจากนี้จะเป็นรูปแบบการเรียนพร้อมกับการบริหารจัดการ และต้องได้ปฏิบัติงานจริง เพื่อสร้างประสบการณ์  บัณฑิตวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้เรียนได้ลองเข้าไปเห็นสภาพแวดล้อมจริง มีวิทยาการจริงมาสอน และทำให้ผู้เรียนได้เห็นบรรยากาศจริง

หรือกรณี การเรียน Architect Management ซึ่งหากเป็นหลักสูตรปริญญาตรี จะมุ่งเน้นศาสตร์การออกแบบ แต่หากเป็นระดับปริญญาโท จะเติมเต็มในเรื่องของบริหารจัดการเข้าไปด้วย

หลักสูตร IT Management หรือ Automotive Management ที่เปิดสอนทางด้านเทคโนโลยี ไอที และการบริหารจัดการ ซึ่งทางเอแบค เตรียมเปิดหลักสูตรได้ราวเดือนตุลาคม 2552

การเบนเข็มสู่ดิจิทัล เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการปรับเปลี่ยนเอแบคสู่ภาพใหม่ที่แตกต่าง

เริ่มต้นจากการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ หรือจะเรียกว่าเป็น CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

รวมถึงการเปิดศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ (ICE Center) โดยความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เพื่อต้องการเป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษาผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านบริหารจัดสินค้าและบริการ

ล่าสุดกับการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมาย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ ABAC Business Legal Advisory Center (ABAC-BLAC) ขึ้นเพื่อต่อยอดการทำธุรกิจ

“จากการที่เปิดศูนย์ ICE Center มา ทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการบางส่วน ยังขาดความรู้ ความเข้าใจด้านกฎหมาย อีกทั้งกฎหมายเองก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะเรียกว่าเป็นยุคทองของนักกฎหมายเลยก็ว่าได้ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมักออกกฎหมายมาคุ้มครองประเทศของตน ตอนนี้ก็มีกฎหมายไอที คุ้มครองการใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว แต่คนของเรา บางคนรู้กฎหมาย แต่ไม่รู้ธุรกิจ บางคนสลับกัน เราจึงได้เปิดศูนย์ ABAC-BLAC เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายขึ้น ซึ่งเปิดให้คำปรึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

ดร.กิตติ บอกอีกว่า  นอกจาก ABAC-BLAC จะเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจแล้ว ยังสะท้อนการรับรู้ในด้านดีต่อมหาวิทยาลัยอีกด้วย เพราะปัญหาที่ศูนย์ให้คำปรึกษาต่างๆ พบเจอนั้น จะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนสอนของเอแบค เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง แล้วหาทางแก้ไขได้ถูกจุด

เวอร์ชั่น 2.0 จะเป็นอีกกำลังขับเคลื่อนเอแบค ก้าวสู่ “ผู้นำ” ลำดับต้น ๆ บนเส้นทางสายการศึกษาที่มีดิจิทัลเป็นธงนำ

http://www.bangkokbiznews.com/

Share this: