“กำจร” เผยเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ กก.คุมเอแบค 7-8 ราย
ระบุบางรายเคยควบคุมม.อีสาน มาก่อน และยังมีคนเก่งการเงิน-กฎหมายมาทำหน้าที่
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค
โดยที่ผ่านมามีมติจะใช้อำนาจตามมาตรา 86 (4) วรรคสองของพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนพ.ศ.2546
และแก้ไขเพิ่มเติมมาบังคับใช้ตั้งคณะกรรมการควบคุมเข้าไปดูแลการบริหารงานเอแบคว่า
ได้เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต่อพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการควบคุมแล้วตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้โดยเสนอไป 7-8 ราย
บางคนมีประสบการณ์เคยเป็นคณะกรรมการการควบคุมเข้าไปแก้ปัญหามหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) มาแล้ว
นอกจากนั้นยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินด้านกฎหมายผู้ที่รู้ข้อมูลของเอแบค
โดยมีคนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการควบคุม
โดยคาดว่าไม่เกินวันที่ 23 มกราคมนี้ รัฐมนตรีว่าการศธ.จะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุม
ปลัดศธ.กล่าวต่อว่า
หลังจากตั้งคณะกรรมการควบคุมแล้วตามขั้นตอนของกฎหมายสภาม.เอแบค ชุดปัจจุบันจะต้องยุติบทบาททันที
เพื่อให้สภาชุดใหม่เข้าปฏิบัติทันทีดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศสิ่งที่คณะกรรมการควบคุมต้องทำอันดับแรก
คือการออกคำสั่งให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสอนและทำงานต่อ
เพราะขณะนี้เพิ่งจะเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558
ทั้งนี้ปัญหาของม.เอแบค ไม่ใช่เรื่องคุณภาพการจัดการศึกษา
แต่เป็นปัญหาการบริหารงานของสภามหาวิทยาลัยซึ่งบังเอิญว่าไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันเองได้
จึงต้องตั้งคณะกรรมการควบคุมเข้าไปแก้ปัญหา
ส่วนกรณีที่นายสุทธิพรปทุมเทวาภิบาลรักษาการอธิการบดีเอแบคจะฟ้องศาลปกครอง
หากมีการตั้งคณะกรรมการควบคุมนั้นถือเป็นสิทธิใครอยากจะฟ้องก็ฟ้องศาลจะพิจารณาเองว่า
ผู้ที่ฟ้องได้รับผลกระทบจริงหรือมไม่แต่ทุกอย่างก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามปกติ
รศ.นพ.กำจรกล่าวต่อว่าส่วนความวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ภายในม.เอแบควิทยาเขตสุวรรณภูมิ
เมื่อวันที่21มกราคมที่ผ่านมาถือเป็นปัญหาภายในยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้
ต้องรอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมเข้าไปดูแลก็จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน
ที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรมว.ศึกษาธิการ ลงนามแต่งตั้งให้ทำหน้าแก้ไขปัญหาม.อีสาน มีจำนวน 17 คน ดังนี้
นายสมนึก พิมลเสถียร ประธานกรรมการ
รศ.ชูชาติ อารีจิตรานุสรณ์
รศ.สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์
รศ.สุมนต์ สกลไชย
รศ.อานนท์ เที่ยงตรง
รศ.กำจร ตติยกวี
รศ.จีรเดช อู่สวัสดิ์
ผศ.ชัยนรินทร์ วีระสถาวณิชย์
นายประเสริฐ ตันสกุล
นางอรุณี ม่วงน้อยเจริญ
น.ส.มัทนา สานติวัตร
นางฉันทวิทย์ สุชาตานนท์
นายขจร จิตสุขุมมงคล ผอ.สำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา เป็นกรรมการเลขานุการ
เจ้าหน้าที่ สกอ.3 ราย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
วันเดียวกัน มีการส่งเมล์เผยแพร่ข่าวจากกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ
นำโดย นายเกษม กรณ์เสรี, นายชลิต ลิมปนะเวช, นายวิวัฒน์ อวศิริพงษ์และคณะศิษย์เก่าและปัจจุบันกว่า 200 คน
ร่วมยื่นหนังสือคัดค้านการใช้มาตรา 86 ให้กับพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ให้แก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องใช้มาตรา 86 ทั้งนี้คณะศิษย์เก่าต้องการดำรงเกียรติภูมิของสถาบัน
ต้องการให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นตัวอย่างที่ดีในการรักษา
และปฏิบัติตามหลักธรรมภิบาลในทุกระดับขององค์กร
ให้ทุกภาคฝ่ายเคารพตามกฏหมายสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ปรากฏต่อสาธารณชน
Reference: การเมือง กรุงเทพธุรกิจ